วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เราซื้อทรัพย์สิน ไม่ได้ซื้อหุ้นทั้ง TSSI และแบงก์กรุงเทพให้การสนับสนุน

 
"ประชัย" ประกาศขายทิ้ง"TSSI" ธุรกิจเหล็กครบวงจร  มูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท   หลังหยุดผลิตมานาน 6 ปี   ชี้ 2 เหตุผลตัดสินใจเบรก  ขาดเงินหมุนเวียน และราคาวัตถุดิบสูงขึ้น  ด้าน "มิลล์คอนสตีล" ใช้เวลา 2 ปีซุ่มเงียบเจรจาซื้อทรัพย์สิน มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ทั้ง TSSI และแบงก์กรุงเทพเจ้าหนี้รายใหญ่สนับสนุน  คาดดีลนี้จะจบไม่เกินปีหน้า  เซียนเหล็ก "สวัสดิ์"  แย้มมีรัฐวิสาหกิจอิรัก –อิหร่านสนใจซื้อ
    จากวิกฤติต้มยำกุ้ง แม้จะผ่าน 16 ปี แต่ยังทิ้งความเจ็บปวดให้กับนักธุรกิจรุ่นบุกเบิกอุตสาหกรรมไทย ที่เคยเฟื่องฟูสุดขีดในช่วง 20 ปีที่แล้ว  จนสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพราะธุรกิจเหล็กของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ที่การเจรจาขายกิจการยืดเยื้อมานานและกำลังมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ
    ล่าสุด นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์  เปิดเผยผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า  ต้องการจะขายธุรกิจเหล็ก ที่ดำเนินกิจการในนาม บริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TSSI  ที่เดิมมีเป้าหมายผลิตเหล็กครบวงจร   โดยโครงการเริ่มต้นที่การผลิตเหล็กลวด หรือไวร์ร็อด  ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเหล็กปลายน้ำ  สำหรับนำไปผลิตลวดเชื่อม, ลวดแรงดึงต่ำและลวดแรงดึงสูงสำหรับงานก่อสร้าง   แต่หลังจากได้รับผลกระทบวิกฤติต้มยำกุ้ง บริษัท TSSI ก็เจอมรสุม รุมเร้า จนขาดสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่อง   จนสุดท้ายปี 2550 ต้องหยุดทำการผลิตลง  ในขณะที่สินทรัพย์ เช่น เครื่องจักรยังมีการบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดี 

    "ที่บริษัทต้องตัดสินใจหยุดผลิตมี 2 เหตุผลคือ  วงเงินทุนสำหรับใช้ในการหมุนเวียนระหว่างที่ดำเนินกิจการอยู่มีไม่มาก ในขณะที่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินก็ไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อ  ประกอบกับเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ราคาวัตถุดิบ ตั้งแต่สินแร่เหล็ก มายังบิลเล็ตและสแลป มีราคาพุ่งสูงขึ้นมาก  ยิ่งซ้ำเติมให้วงเงินที่มีจำกัดอยู่แล้วมีไม่เพียงพอ หากเดินหน้าผลิตต่อไปก็ยิ่งเจ็บตัว  ซึ่งในขณะนั้นTSSI มีความสามารถในการผลิตเหล็กลวดได้เต็มที่ 5 แสนตันต่อปี  แต่เพิ่งผลิตได้สูงสุดเพียง 50% ป้อนตลาดในประเทศกว่า 90% ก็ต้องยุติลงก่อน"

- ประกาศขายกว่า 4 พันล.
    สอดคล้องกับที่นางสาวเพชรรัตน์ อุบลเรียบร้อย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าต้องการขายกิจการตามมูลค่าที่TSSI ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ที่เม็ดเงิน 4,220 ล้านบาท รวมที่ดินจำนวน 580 ไร่  ตั้งอยู่บนถนนบ้านแลง-นาตาขวัญ ตำบลบ้านแลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง  ตัวโรงงานและเครื่องจักรที่ยังบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดี  นับจากที่ปี 2550 ตัดสินใจหยุดผลิต   โดยที่บริษัทยังเดินเครื่องจักรได้ไม่เต็มที่ มีเพียงการผลิตเหล็กลวด หรือไวร์ร็อด ในขั้นปลายน้ำเท่านั้น  จากเดิมที่บริษัทตั้งเป้าว่าจะเดินการผลิตไปตามแผนคือผลิตเหล็กครบวงจร 3 ส่วน คือ 1. เหล็กต้นน้ำ ซึ่งหมายถึงการมีโรงถลุงเหล็กเอง  2.เหล็กกลางน้ำ หมายถึงการนำสินแร่เหล็กไปผลิตเป็นบิลเล็ต (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กรูปทรงยาว เช่นเหล็กเส้น, เหล็กลวด ) และจะพัฒนาไปถึงการผลิตสแลป (หมายถึงวัตถุดิบที่นำไปผลิตเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน) และ3. เหล็กปลายน้ำ  เช่น การผลิตเหล็กทรงยาว  เช่น เหล็กลวด หรือไวร์ร็อด
    "ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีหลายบริษัทสนใจ บางบริษัทก็เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้เพื่อดำเนินการต่อ โดยเฉพาะ บริษัท มิลล์คอนสตีล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือMILL  แต่ก็ยังล่าช้าอยู่มาก อยากให้ดีลนี้จบลงไวๆ โดยที่TSSI เปิดโอกาสให้ทุนกลุ่มอื่นที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการเป็นการทั่วไป"
    ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้บริษัทมีความล่าช้าในการขายกิจการ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน  โดยเฉพาะกรณีบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน)(บมจ.ไออาร์พีซี) ที่ฟ้องร้องกันเรื่องที่ดินจำนวน 580 ไร่ ที่บริษัทTSSI  ซื้อมาจากบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมิกัลไทย จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิมก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นบมจ.ไออาร์พีซี) ซึ่งตามเงื่อนไขค่าที่ดินจำนวน 5 ล้านบาทต่อไร่ จะต้องรวมระบบอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ แต่เมื่อมาอยู่ในนามของบมจ.ไออาร์พีซี กลับไม่รวมเข้าไปไว้ด้วย และยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้  เท่ากับว่าราคาที่ดินจะต้องลดลงมาเหลือ 1.3 ล้านบาทต่อไร่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้บริษัทTSSI ได้จ่ายเงินไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้TSSI ได้ฟ้องร้องกันไปจนชนะคดี ล่าสุดเรื่องยังอยู่ในขั้นอุทธรณ์


- MILLจ้องฮุบTSSI
    ต่อเรื่องนี้นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล  กรรมการผู้จัดการบริษัท มิลล์คอน สตีล  จำกัด (มหาชน)หรือMILL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก  กล่าวว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่สนใจศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อกิจการTSSI   ตามแผนจะเข้าไปซื้อทรัพย์สิน ไม่ได้ซื้อหุ้น โดยก่อนหน้านี้ได้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเตรียมเงินทุนไว้สำหรับซื้อสินทรัพย์ของTSSI กว่า3,000 ล้านบาท  โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝ่ายบริษัทTSSI  และฝ่ายเจ้าหนี้รายใหญ่ของTSSI คือธนาคารกรุงเทพ  โดยเงินดังกล่าวMILLจะจ่ายให้กับเจ้าหนี้ของTSSI โดยตรง   ซึ่งดีลนี้เกิดจากที่บริษัทMILL ก็เป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ ที่มีความสนใจธุรกิจเหล็กครบวงจรอยู่แล้ว  และธุรกิจของMILL ก็สามารถสั่งเหล็กบิลเล็ตมาป้อนให้กับTSSI ได้   หากสามารถซื้อกิจการมาได้ก็จะมาต่อยอดธุรกิจกัน


    "เวลานี้เรามีความพร้อมที่จะระดมทุน และมีความพร้อมในการทำธุรกิจ  ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาได้ใช้เวลาทำการศึกษาความซับซ้อนของโครงสร้างหนี้ของบริษัทTSSI มาอย่างดี และที่ต้องล่าช้าไป ไม่ได้เกิดจากฝ่ายคุณประชัย แต่เป็นปัญหาที่กลุ่มเจ้าหนี้ของTSSI ที่มีหลายส่วนมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่ยอมปลดปล่อยทรัพย์สินที่ถูกจำนองอยู่  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย คาดว่าไม่เกินปี 2557 ดีลนี้น่าจะจบลงได้"

    กรรมการผู้จัดการMILL กล่าวอีกว่า ในระหว่างที่ดีลนี้ไม่จบ  หากมีกลุ่มทุนอื่นเข้ามาดูความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อTSSI ก็เป็นสิทธิ์ของทุนรายนั้นๆ   แต่เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และค่อนข้างมีอุปสรรคมากเนื่องจากดีลนี้มีความซับซ้อนในเรื่องกฎหมายระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้

- สวัสดิ์แย้มทุนอิรัก-อิหร่านสน    นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เหมราช พัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) อดีตเซียนวงการเหล็กกล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ได้สนใจที่จะทำธุรกิจเหล็กแล้ว จึงไม่คิดจะซื้อกิจการของนายประชัย  แต่มีกลุ่มทุนจากประเทศอิรักและอิหร่าน เป็นรัฐวิสาหกิจ สนใจจะซื้อกิจการTSSI และบริษัทในกลุ่มทาทา สตีล ประเทศอินเดียที่อยู่ในประเทศไทยด้วย เพราะขณะนี้ก็มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินเหมือนกัน เพราะทุนกลุ่มนี้เป็นทั้งเจ้าของเหมืองถ่านหิน และแร่เหล็ก โดยเฉพาะแร่เหล็ก ที่ขณะนี้ราคาร่วงลงมามาก
    "คนที่มาคุยกับผมเป็นระดับรัฐมนตรี กรณีปัญหาของคุณประชัยความจริงแล้วรัฐบาลจะต้องลงมาดูแล เพราะเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรม(ปิโตรเคมี) หรือแม้แต่คุณคีรี(นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เพราะวันนี้ถ้าไม่มีคุณคีรี กรุงเทพฯเป็นอัมพาตไปแล้ว 50% แต่ภาครัฐกลับมองข้าม"
    อย่างไรก็ตามต่อจากนี้ไปการทำธุรกิจเหล็กจะยากขึ้น เพราะมีการแข่งขันสูง สมัยก่อนการนำเข้า  ยังมีกำแพงภาษีกั้น เช่น ภาษีอากรนำเข้าเหล็กสูงถึง 30%  มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti -Dumping )หรือ เอดี ปัจจุบันสามารถนำเข้ามาง่ายโดยไม่มีกำแพงภาษีอากรนำเข้า  ในขณะที่รัฐบาลในประเทศผู้นำเข้าก็ให้การสนับสนุน ส่งออก เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เบลเยียม อังกฤษ เป็นต้น
    สำหรับกลุ่มทาทา สตีล ประเทศอินเดีย  ปัจจุบันมีธุรกิจเหล็กในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. บริษัท ทาทา สตีล(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผลิตเหล็กเส้น,เหล็กลวด, เหล็กรูปพรรณ ฯลฯ 2. บริษัท สยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด ผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูง 3. บริษัท ทีเอสเอ็นไวร์ จำกัด ลวดเหล็กเคลือบสังกะสีและลวดเหล็กเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม
 -แบงก์กรุงเทพแจงหนี้ 1พันล้าน
    ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัทTSSI กล่าวว่า ขณะนี้ในหลักการยังอยู่ระหว่างเจรจาการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ศาลมีคำสั่งพิพากษาให้บังคับคดีแล้ว ซึ่งทางลูกหนี้ก็มีการเจรจาขอเอาหลักประกันที่เป็นโรงงาน เพื่อขายเป็นทรัพย์สิน รวมมูลหนี้ (เงินต้นรวมดอกเบี้ย) ประมาณ 1,000 ล้านบาท
    บริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทยจำกัด (มหาชน)หรือTSSI ก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และต่อมาได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 ด้วยทุนจดทะเบียน 11,200 ล้านบาท  ดำเนินธุรกิจผลิตเหล็กกล้าคุณภาพพิเศษเพื่อทดแทนการนำเข้าและเพื่อการส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีขอบข่ายโครงการประกอบด้วย เตาถ่านโค้ก โรงถลุงเหล็ก โรงผลิตเหล็กกล้า  โรงหล่อเหล็กแท่ง โรงรีดเหล็กลวด และเริ่มการก่อสร้างโรงรีดเหล็กลวดขึ้นก่อน ในปี 2538 แต่เนื่องจากได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 จึงต้องลดขนาดของโครงการลง  จนสุดท้ายบริษัทขาดสภาพคล่อง
    ปัจจุบันบริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด (มหาชน) มีโครงสร้างการถือหุ้นเป็นดังนี้ 1. บริษัท ทีพีไอ คอนกรีต จำกัด ถือหุ้น29.77% 2.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 16.24% 3. ตระกูลก้องธรนินทร์ ญาติ และเพื่อน ถือหุ้น 12.38%  4.ธนาคารกรุงเทพ 13.03% 5.สถาบันการเงินอื่นๆ รวม 9.57% 6. KRUPP AOPPER ถือหุ้น 12.16% 7. อื่นๆ ถือหุ้น6.85%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,860 วันที่  11  - 13   กรกฎาคม  พ.ศ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น