วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

"มิลล์คอน สตีล" เปิดแผนธุรกิจระยะ 5 ปี งบ 5 พันล้านบาท

MILLเปิดแผน5ปีงบ5พันล.ลุยอุตฯเหล็ก

"มิลล์คอน สตีล" เปิดแผนธุรกิจระยะ 5 ปี งบ 5 พันล้านบาท ซื้อกิจการและพัฒนาผลิตเหล็กทรงยาวเกรดพิเศษ มุ่งสู่การต่อยอดในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างทำเหล็กผสมปูนซีเมนต์ขึ้นรูปเป็นชิ้นงาน เผยซื้อทรัพย์สินของ TSSI...
จะทำให้กำลังผลิตเหล็กเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนตันเป็น 1.3 ล้านตัน จากนั้นจะเปิดช่องให้มีพันธมิตรใหม่ทั้งไทย-เทศเข้ามาร่วมบริหาร เร่งเดินหน้าผลิตเหล็กครบวงจร

นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน)หรือMILL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในเร็วๆนี้ MILL เตรียมเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติแผนขยายธุรกิจระยะ 5 ปีระหว่างปี 2557-2561 โดยจะใช้เงินทุนทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท แบ่งงบออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ เงินจำนวนกว่า 3 พันล้านบาทไว้สำหรับซื้อทรัพย์สินของบริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TSSI ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์(ผู้ก่อตั้ง) โดยเงินทุนส่วนนี้จะมาจากการเพิ่มทุนอย่างน้อย 1.5 พันล้านบาทจากผู้ร่วมทุนไทยและต่างชาติ และมาจากเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับงบอีกราว 2 พันล้านบาทใช้สำหรับการพัฒนาการผลิตเหล็กทรงยาวเกรดพิเศษ เช่น นอต, ลวดขอบยางรถยนต์, ลูกสูบ ,เหล็กเพลารถยนต์ เพื่อนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ ที่ปัจจุบันยังต้องนำเข้ามาเกือบ 100% และสำหรับใช้เป็นงบในการมุ่งไปสู่การต่อยอดในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เช่น นำเหล็กไปผสมกับปูนซีเมนต์ขึ้นรูปเป็นชิ้นงาน ป้อนให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองทำสะพานรูปตัววายสำเร็จรูป สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้ทันที เบื้องต้นส่งออกไปออสเตรเลียก่อน และตั้งเป้าว่า 2 ปีจากนี้ไป จะผลิตป้อนตลาดในประเทศด้วย

ทั้งนี้การเข้าซื้อทรัพย์สินของ TSSI นั้น ต้องขอบคุณ คุณประชัย ผู้ก่อตั้ง ที่มองการณ์ไกล ลงทุนวางระบบเครื่องจักรและการผลิตไว้เป็นอย่างดี เป็นทรัพย์สินที่น่าสนใจทั้งหมด ซึ่งดีลนี้ต้องการให้แล้วเสร็จไม่เกินปี 2557 โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้หลัก ส่วนการเจรจาในช่วงที่ผ่านมาทั้งฝ่ายนายประชัย กลุ่มเจ้าหนี้จากสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารกรุงเทพ และ MILL ยังอยู่ภายใต้การเจรจาที่วิน-วิน ด้วยกันทั้ง 3 ฝ่าย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยดี ก็จะเดินหน้าสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเหล็กของ MILL เติบโตไปอย่างยั่งยืน จากที่ปัจจุบันบริษัทผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำ และเหล็กกลางน้ำได้แล้ว พอเข้าซื้อกิจการของ TSSI ก็จะต่อยอดไปยังเหล็กขั้นปลายน้ำได้ก็จะเป็นการผลิตเหล็กที่ครบวงจร(ดูแผนภูมิ)

กรรมการผู้จัดการ MILL กล่าวว่า หลังจากที่ซื้อทรัพย์สินของ TSSI มาแล้ว จะทำให้กำลังการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนตันเพิ่มเป็น 1.3 ล้านตัน จากนั้นจะเปิดช่องให้มีพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมบริหารทั้งทุนไทยและต่างชาติ โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเก่า จะยอมลดสัดส่วนหุ้นลงมาและจะไม่ยึดติดกับเก้าอี้ซีอีโอ ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีการเปิดช่องคุยกับพันธมิตรหลายรายที่เข้ามาเจรจาบ้างแล้ว โดยการเปิดช่องครั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า กลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาจะต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการคือ เป็นมืออาชีพ มีโนฮาวน์ มีตลาดและมีเงินทุนเข้ามาร่วมทุน

ทั้งนี้ MILL เป็นผู้ผลิตเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้นก่อสร้าง เหล็กรูปพรรณรูปทรงต่างๆ โดยนำเหล็กม้วนมาแปรรูปเป็นท่อเหล็ก หรือเป็นเหล็กรูปตัวซี ซึ่งเมื่อปี 2555 บริษัทเพิ่งทำเตาหลอมได้สำเร็จ โดยจะนำเศษเหล็กมาหลอม ออกมาเป็นบิลเล็ต (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กรูปทรงยาว) จากที่เดิมจะซื้อบิลเล็ตมารีดเป็นเหล็กเส้น โดยการนำเข้าบิลเล็ตมาจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนสูง จึงต้องมีเตาหลอมเอง โดยจะทำการผลิตบิลเล็ตทั้งเกรดธรรมดาและเกรดพิเศษด้วย

สำหรับ MILL ถือว่าเป็นน้องใหม่วงการเหล็กมีอายุ 7-8 ปี เมื่อเทียบกับวงการเหล็กที่มีตลาดอยู่แล้วในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นรุ่นบุกเบิกมาก่อน โดยธุรกิจของ MILL เกิดขึ้นเพราะวิกฤติเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2540 ที่ครอบครัวซึ่งทำธุรกิจเหล็ก มีภาระหนี้สูงถึง 5,000 ล้านบาท นายสิทธิชัย กล่าวและว่า

"คุณพ่อ(นายสมภพ ลีสวัสดิ์ตระกูล น้องชาย คุณสมศักดิ์)ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มกงสีของครอบครัวลีสวัสดิ์ตระกูล ก็ลำบากมากในขณะนั้น พอดีผมเรียนจบกลับมา ก็เข้ามาเคลียร์ปัญหาหนี้สินทั้งหมดให้กับครอบครัวโดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบิดประมูลซื้อทรัพย์สินผ่านบสท. ซึ่งเดิมเป็นทรัพย์สินชิ้นหนึ่งของคุณพ่อ ถึงวันนี้เป็นเวลา 9 ปีแล้วที่เกิดบริษัท มิลล์คอนสตีลฯ "

นายสิทธิชัย กล่าวอีกว่า ตนเข้ามาบริหารธุรกิจเหล็กปีแรกจังหวะไม่ดี เพราะเหล็กมีราคาผันผวนมากจึงขาดทุน บวกกับเครื่องจักรยังไม่เคยเดินเครื่องมาก่อน ขณะเดียวกันไปสั่งวัตถุดิบมารองรับ เพราะคิดว่าจะผลิตได้ตามแผน แต่สุดท้ายผลิตได้ล่าช้าออกไป เลยทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่ต้องแบกภาระไว้ ทำให้ประสบปัญหาขาดทุน แต่ก็ไม่ยอมแพ้จึงพลิกวิกฤติมาเป็นโอกาส หลังจากที่ผิดพลาดไปในปีแรกก็นำปัญหาทั้งหมดมาเรียนรู้ใหม่ และรู้ว่าเหล็กมีความผันผวน จึงมีการป้องกันความเสี่ยงของราคาเหล็กไว้ และขายล่วงหน้าให้กับลูกค้า ส่วนการบริหารวัตถุดิบก็จะดูว่าอุตสาหกรรมเหล็กราคาจะขึ้นหรือลดลงจะมีช่องว่างระหว่างผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้ามีการบริหารจัดการสต๊อกให้ดีก็ไม่กระทบ สำหรับ MILL ถ้ามีการผันผวนของราคาก็จะสต๊อกวัตถุดิบให้น้อยที่สุด นอกจากนี้บริษัทยังต้องให้ความสำคัญกับการมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และงานบริการที่ทันสมัย รวดเร็ว เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้อย่างเหนียวแน่น

ปัจจุบันบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือนายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล สัดส่วน 24.04% ,บริษัท อินดัสเตรียลล์ เบเทลิกุง(ประเทศไทย)จำกัด บริษัทในกลุ่ม Danieli ประเทศอิตาลี ผู้ผลิตเครื่องจักรรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เข้าลงทุนด้านเครื่องจักรสัดส่วน 8.27%, กองทุนเปิดไทยทวีทุน 2 สัดส่วน6.55%,Aero Sun Investments Limitedสัดส่วน 6.11% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยอีกจำนวนหลายราย เริ่มต้นธุรกิจจากที่มียอดขาย 300 ล้านบาท/ปี เมื่อ7-8 ปีที่แล้ว ก็เพิ่มมาเป็น18,000 -19,000 ล้านบาท/ปีในปัจจุบัน

http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&amp%3Bview=article&amp%3Bid=193605%3Amill55&amp%3Bcatid=85%3A2009-02-08-11-22-45&amp%3BItemid=417

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น